บัลลังก์หมอยาเซียน / ยอดหมอยา ชายาอ๋องเจ้าเล่ห์ - บทที่ 1862 เถียงกันจนหน้าดำหน้าแดง
คนที่แซ่ซ้องร้องเพลงสรรเสริญราชวงศ์คนนั้น ได้ดึงดูดคนหนุ่มสาวที่โกรธเคืองหลายคนขึ้นมาทันที พวกเขาคิดว่าราชสำนักต่างหาก ที่มีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนได้รับการรักษา นี่คือสิ่งที่ราชสำนักควรทำ และยังทำได้ไม่ดีพอด้วย จึงไม่ควรต้องแซ่ซ้องสรรเสริญ เพื่อไม่ให้ราชสำนักเย่อหยิ่งจนสำคัญตัวผิด
แน่นอนว่าคนที่พูดประโยคนี้ ก็ไปดึงดูดคนอีกหลายคนที่ฟังแล้วแสลงหูขึ้นมาอีก คำแปลที่ได้ก็ประมาณว่า “เวลากินข้าว ก็ไม่ใช่ว่าต้องกินทีละคำ ๆ หรอกหรือ? เจ้าจะกินคำเดียวแบบกลืนช้างลงไปทั้งตัวรึ? เงินที่เปิดโรงเรียนหมอ เป็นบ้านเจ้าจ่ายให้หมดหรือไร? ราชสำนักต้องดูแลคนมากมายขนาดนี้ มีตรงไหนบ้างที่ไม่ต้องใช้เงิน? ถ้าเอาเงินทั้งหมดมาจ่ายให้การรักษาพยาบาล แล้วด้านการศึกษาล่ะ? การก่อสร้างซ่อมแซมถนนหนทางล่ะ? ค่าใช้จ่ายทางการทหารล่ะ?”
เวลาบัณฑิตคุยกัน เรียกว่าใช้ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ เป็นอะไรที่ส่งกลิ่นเหม็นบูดมาก
เวลาที่บัณฑิตทะเลาะกัน เรียกว่างัดคมดาบที่อาบด้วยไฟมาปะทะกัน ในงานปะทุไปด้วยสะเก็ดไฟลั่นแปลบปลาบ เจ้ามาข้าไป เสียดแทงแก้วหูจนอื้ออึง
ในที่สุดหัวข้อนี้ก็จบลง และเมื่อถึงหัวข้อต่อไป ก็เริ่มทะเลาะกันอีก
เมื่อเห็นสถานการณ์ที่รุนแรงในที่งาน ซาลาเปาก็อดตกใจไม่ได้ หันไปมองท่านฉู่ที่กำลังดื่มชาอย่างสงบนิ่ง ราวกับว่าในชีวิตนี้ เขาได้เห็นการทะเลาะกันในลักษณะนี้มาแล้วไม่น้อย ถึงขั้นที่เห็นเป็นแค่เรื่องเด็ก ๆ เลยด้วยซ้ำ
ท่านฉู่คิดอย่างนั้นจริง ๆ รู้สึกว่าสงครามครั้งใหญ่วันนี้ คงจะไม่มีทางหลุดเข้าเน่ย์เก๋อแน่
เมื่อเน่ย์เก๋อทะเลาะกัน นั่นต่างหากที่เรียกว่าก่อเขม่าควันไฟที่เต็มไปด้วยกลิ่นดินปืนของจริง ทุกครั้งที่มันร้อนแรงขึ้นมา พวกเขาจะทักทายบรรพบุรุษของกันและกันไปจนถึงสิบแปดรุ่น ด้วยคำพูดที่สุภาพที่สุด
แต่นั่นก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง
ท้ายที่สุดแล้ว หลังการโต้วาทะจบลงทุกครั้ง ล้วนเป็นตัวแทนของผลประโยชน์อันมหาศาล ถ้าทะเลาะกันแล้วได้ข้อสรุปออกมา อย่างไรก็ต้องทะเลาะ
ดังนั้นฉากเหตุการณ์ในวันนี้ เขาจึงแค่ดื่มชาแล้วแทะเมล็ดแตงโมอย่างใจเย็นต่อไปก็พอ
แต่น่าเสียดายที่เป็นแค่การทะเลาะกันเสียงดัง จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำพูดเจ็บ ๆ ที่ทิ่มแทงหรือโหดร้ายออกมาให้ได้ยินนัก
เมื่อถึงช่วงกลางงาน ซาลาเปาเข้าควบคุมงาน ตั้งคำถามขึ้นมาประเด็นหนึ่ง นั่นคือสรุปแล้วระหว่างเศรษฐกิจการค้ากับเกษตรกรรม สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน
เขาอยากลองฟังสิ่งที่โจวเม่าพูด
ทันทีที่เขาถามคำถามนี้ โจวเม่าก็ยืนขึ้นตามที่คาดไว้ ถามกลับเพียงประโยคเดียวว่า “ทำไมเราต้องแบ่งแยกว่าสิ่งไหนที่สำคัญกว่ากัน? ทำควบคู่ขนานกันไม่ได้หรือ? มันขัดแย้งกันหรือไร?”
จากนั้นเขาก็เริ่มแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แปลออกมาแล้วได้ความหมายประมาณว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเน้นการค้าขายลดบทบาทการเกษตร ซึ่งนี่ไม่ใช่นโยบายของประเทศ แต่หลังจากออกนโยบายระดับประเทศแล้ว แต่ละเมืองย่อยไม่เข้าใจความหมายของผู้นำอย่างลึกซึ้ง เพราะถ้ามองแค่ด้านเน้นการค้าแล้วพัฒนาอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า ใคร ๆ ต่างก็จะอยากทำการค้าหมด ทำการค้าขนาดใหญ่ไม่ได้ ก็ทำขนาดเล็ก เป็นพ่อค้าแม่ค้าแบบหาบเร่ เปิดแผงลอยขายของ ขนสินค้าตามท้องถนนและตรอกซอกซอย เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า มันจะปลูกฝังความคิดอย่างหนึ่ง นั่นคือทำการค้ามีระดับกว่าทำนา หาเงินมาได้ก็ไปซื้อของกิน อย่างไรมีเงินก็ไม่ต้องกังวลว่าจะหาซื้อไม่ได้
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ที่ดินทำกินจำนวนมากจะไม่มีคนทำการการเพาะปลูก ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรพื้นฐานโดยใช่เหตุ และประเทศจะต้องชดใช้ต่อมูลค่าความเสียหายนี้เป็นจำนวนมาก
หลังพูดประโยคนี้จบ ท่านฉู่ถึงค่อยมองไปที่เขาตรง ๆ ในใจคิดว่า ถ้าอู๋ซ่างหวงมาด้วย เขาจะต้องชอบเจ้าเด็กคนนี้มากแน่ ๆ การทำนาเป็นนโยบายแรกเริ่ม ซึ่งอู๋ซ่างหวงเน้นย้ำอยู่เสมอในสมัยรัชกาลของพระองค์
จนต่อมาเขาอยากพัฒนาด้านการค้า แต่ในประเทศก็เกิดเรื่องต่าง ๆ มากมาย หลังสงครามใหญ่ ประเทศก็ยากจนและว่างเปล่า ดังนั้น คำพูดที่เขาพูดบ่อย ๆ ในตอนนั้นคือ ถ้าจับได้ด้วยมือทั้งสองข้างคือดีที่สุด แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็จงกินให้อิ่มท้องไว้ก่อน
ตั้งแต่ฝ่าบาทเสด็จขึ้นครองราชย์ แท้จริงแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้เน้นการค้าลดบทบาทการเกษตร มันเป็นอย่างที่โจวเม่าพูดจริง ๆ เป็นเพราะขุนนางผู้น้อยบางคนในเมืองย่อย ไม่สามารถทำงานได้อย่างตรงจุด การใช้ท่านชายสี่ในช่วงปีแรก ๆ ถือเป็นการให้สัญญาณที่ผิดพลาดแก่พวกเขา นั่นคือราชสำนักต้องการเน้นการค้า ลดบทบาทการเกษตร
แต่สถานการณ์ในตอนนั้นเป็นอย่างไร ส่วนตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร? การพัฒนาประเทศต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
ในช่วงสองปีมานี้ ราชสำนักพยายามที่จะแก้ไข แต่สถานการณ์โดยรวมได้ถูกกำหนดไว้แล้ว การจะแก้ไขไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในชั่วข้ามคืน แต่กลับทำให้นักเรียนเหล่านี้กังวลใจเสียแล้ว
คำพูดนี้ของโจวเม่า ก็มีคนหักล้างเช่นกัน มีหลายคนยืนขึ้นมาเถียงกับเขาว่าตอนนี้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เจริญรุ่งเรืองร่ำรวย ถึงขั้นทำการค้ากับประเทศอื่นด้วย สินค้าของเราถูกซื้อไปในหลาย ๆ ที่แม้แต่ในประเทศอื่น ๆ ก็สร้างแหล่งผลิตขึ้นด้วยเช่นกัน
โจวเม่าแย้งคำพูดเหล่านี้ง่าย ๆ ด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียว “การถ่ายโอนการผลิต ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงแล้วรึ? นี่เป็นประโยชน์ต่อเราไม่มีโทษเลยรึ? ทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย อุตสาหกรรมต่าง ๆ ถูกย้ายออกไป เมื่อคนอื่นเรียนรู้เติบโตเต็มที่ ก็จะเข้ามาแทนที่สวมรอยพวกเรา เมื่อถึงเวลานั้น ต่อให้เราอยากจะร้องไห้ก็ร้องไม่ออกแล้ว”
เป็นผลให้เกิดการอภิปรายหัวข้อใหม่ขึ้นมาอีก เถียงกันจนหน้าดำหน้าแดง ครั้งนี้เป็นไปตามที่ท่านฉู่ต้องการแล้ว เริ่มจากถกตัวปัญหา ค่อย ๆ เบี่ยงประเด็นออกไป จนถึงขุดทั้งครอบครัวทั้งบรรพบุรุษของอีกฝ่ายมาก่นด่าเละเทะ
เมื่อการถกประเด็นกลายเป็นการทะเลาะวิวาท จนลามเป็นการโจมตีส่วนบุคคล โดยพื้นฐานแล้วการโต้เถียงจะไต่ไปถึงจุดสูงสุด แล้วจะค่อย ๆ ลดต่ำลงมาเพื่อบรรเทาความตึงเครียด
เพราะการทักทายคนในครอบครัวของอีกฝ่าย ถือเป็นเพียงประโยคบอกเล่าแค่สองสามประโยคเท่านั้น อย่างมากสุดก็คือเพิ่มคำกิริยา หรือไม่ก็คำคุณศัพท์เข้าไปนิดหน่อย พูดจนเบื่อแล้วก็ไม่มีอะไรต้องพูดอีก ย่อมจะลดธงหยุดลั่นกลองรบกันไปเองเป็นธรรมดา
ผลคือ จนถึงตอนที่โจวเม่าหูแดงก่ำหน้าแดงเถือก แผดร้องตะโกนจนสุดเสียงว่า “เจ้ารอให้ทั้งครอบครัวต้องกินรำข้าวหมูก่อนเถอะ” ทุกคนถึงค่อยหยุดลงได้
เพราะเสียงของทุกคนแหบแห้งจนพูดไม่ออกแล้วนั่นเอง