ผมย้อนอดีตมาเปลี่ยนชะตายุค 80 (นิยายแปล) - ตอนที่ 215 :ธรรมเนียมมากมาย
ตอนที่ 215 :ธรรมเนียมมากมาย
ในชนบทนั้น ยังมีธรรมเนียมบางประการในงานเลี้ยงอีกด้วย
ดังสุภาษิตที่ว่า “กินอาหารเก้าอย่างในงานเลี้ยงวันเกิด แปดอย่างในงานแต่งงาน และเจ็ดอย่างในงานศพ”
“กินอาหารเก้าอย่างในงานเลี้ยงวันเกิด” หมายถึงโดยทั่วไปจะมีการเสิร์ฟอาหาร 9 เมนูในงานเลี้ยงวันเกิด ในโบร่ำโบราณมีคำกล่าวว่าอาหารทั้ง 9 เมนูนั้นมาจากคำว่า “โซ่ว จั๋ว จิ่ว ต้า กุ่ย” ซึ่งคำว่า ‘กุ่ย 簋’ ในที่นี้ไปพร้องเสียงกับคำว่า ‘กุ่ย鬼’ หมายถึง สำริดโบราณหรือภาชนะดินเผา ส่วน ‘จิ่ว 九’ ในที่นี้ไปพร้องเสียงกับคำว่า ‘จิ่ว 久’ ที่หมายถึง ยืนยาว
‘จิ่ว九 และ โซ่ว 寿’ ยังมีความเชื่อมโยงมากมายเกี่ยวกับ ‘การมีอายุที่ยืนยาว’ อีกด้วย
ในพื้นที่ชนบท มักมีธรรมเนียมฉลองใหญ่ครบรอบอายุของผู้เฒ่า 69 ปีหรือไม่ก็ 79 ปี ในขณะที่จะฉลองครบรอบอายุของแม่เฒ่าที่ 70 ปี หรือไม่ก็ 80 ปี
“กินแปดอย่างในงานเลี้ยงแต่งงาน” หมายความว่าจำนวนอาหารในงานแต่งงานมักจะสัมพันธ์กับเลข “แปด” ซึ่งเป็นเลขคู่ และหมายความว่าสิ่งดี ๆ มาเป็นคู่ เลขคู่มักจะใช้ในงานแต่งงานซึ่งมีความหมายคือ ความเป็นคู่ ดังนั้นงานเแต่งงานบางที่จึงมีที่นั่ง 8 ที่นั่ง บางที่ใช้ชามใหญ่ 8 ใบ ชามเล็ก 8 ใบ บางที่เสิร์ฟอาหารจานเย็น 8 จาน และจานร้อน 8 จาน ส่วนการนั่งโต๊ะของแขกก็เช่นกัน แต่ละโต๊ะจะมีแปดที่นั่ง
ส่วน “เจ็ดอย่างในงานศพ” นั้นหมายความว่าอาหารในงานศพจะจัดเตรียมไว้ประมาณ “เจ็ด” อย่าง ซึ่งโดยปกติแล้วจะประกอบไปด้วยจานเจ็ดใบ
เพราะงานศพมักจะกะทันหัน เจ้าภาพอาจไม่ได้เตรียมตัวมาดี อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เจ้าภาพกำลังโศกเศร้า ส่วนแขกที่มาก็ให้ความสำคัญกับการไว้ทุกข์ ดังนั้นการกินจึงไม่ได้สำคัญมากนัก
ในขณะเดียวกันคำว่า “ชี ที่หมายถึง เจ็ด” ยังเสียงคล้ายกับคำว่า ‘ชุ่ย ที่แปลว่า ตาย’ อีกทั้งในงานศพยังมีประเพณี “เผาเจ็ด” ในทุกเจ็ดวันที่จัดงานศพ ดังนั้นเลข “เจ็ด” จึงมีความเชื่อมโยงกับงานศพ
ที่จริงแล้วมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงอาหารในงานเลี้ยง ตัวอย่างเช่น การผสมผสานระหว่างเนื้อสัตว์และผัก ไก่ ปลา หมูและเนื้อวัว ล้วนต้องได้รับการพิจารณาและข้อสรุปเพื่อที่งานเลี้ยงจะได้ออกมาดีที่สุด
แต่ก็ไม่ควรเลี้ยงดีจนเกินไป เพราะแขกส่วนมากใส่เงินให้เพียงไม่กี่หยวนเท่านั้น
ธรรมเนียมนี้ คนในชนบทเกือบทุกคนก็รู้ดี
แต่การเฉลิมฉลองในครั้งนี้ไม่มีกฎเกณฑ์มากมายเหมือนกับงานแต่งงาน งานศพ และการฉลองวันเกิด เหตุผลที่เจียงไห่หยางเรียกเจียงเสี่ยวไป๋และเจียงเสี่ยวเฟิงให้มาพูดคุยกันก็เพราะอยากทำให้งานเลี้ยงออกมาดีที่สุด ทุกคนในงานจะได้ชมเชยเขา เขาจะได้มีหน้ามีตา
เจียงเสี่ยวเฟิงจึงกล่าวว่า “สำหรับอาหาร เราก็ทำ 16 อย่างตามมาตรฐาน ชามใหญ่แปดชามและชามเล็กแปดชาม”
เจียงไห่หยางพยักหน้าเล็กน้อย เขาเข้าร่วมงานเลี้ยงมานับครั้งไม่ถ้วนในเจียงวาน แต่โดยทั่วไปแล้วก็มีอาหารไม่ถึง 10 อย่าง ทั้งยังเป็นเมนูที่แสนจะธรรมดา ถ้างานเลี้ยงครั้งนี้ของเขามีอาหารทั้งหมด 16 อย่าง คงจะเป็นหน้าเป็นตาให้เขาได้บ้าง
“เจ้ารองล่ะ มีความคิดเห็นอย่างไร ? ”
เจียงไห่หยางหันไปถามเจียงเสี่ยวไป๋
“พ่อเป็นคนตัดสินใจเถอะ เดี๋ยวผมจะเป็นคนออกเงินให้เอง ! ” เจียงเสี่ยวไป๋กล่าว
เจียงไห่หยางเอามือจับเคราแล้วพูดด้วยความโกรธออกมาว่า “ใครอยากให้แกจ่าย ไม่ใช่ว่าฉันไม่มีเงินเสียหน่อย”
เขาแค่อยากได้ยินความคิดเห็นของเจียงเสี่ยวไป๋ ไม่ได้ตั้งใจที่จะขอให้เขาออกเงินค่าอาหารเลี้ยงแขกให้
ในชนบทนั้น แนวคิดของคนเป็นพ่อมักจะมีความดื้อรั้น และคิดว่าภาระหลักของตัวเองมีอยู่สามประการ หนึ่ง คือหาเงินส่งลูกเรียนให้จบ สอง คือจัดงานแต่งงานให้ลูก เพื่อที่จะได้เริ่มต้นชีวิตกับครอบครัวใหม่ และสามคือเลี้ยงดูพ่อแม่ให้ดีจนกว่าจะถึงบั้นปลายชีวิตของพวกท่าน
หลายคนคิดว่าหลังจากทำภารกิจหลักทั้งสามสำเร็จแล้ว ชีวิตของพวกเขาจะไม่มีข้อบกพร่องอีกต่อไป
ดังนั้น การเฉลิมฉลองให้เจียงเสี่ยวชิงในครั้งนี้ เจียงไห่หยางจึงคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของเขาในฐานะพ่อคน และเขาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ดังนั้นเขาจึงต้องออกเงินเองทั้งหมด
ซึ่งมันสอดคล้องกับเรื่องการตอบแทนสินน้ำใจต่อกันอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น เมื่อพ่อแม่จากไป ตามธรรมเนียมในช่วงทศวรรษปี 1980-1990 ลูกชายที่พ่อแม่อาศัยอยู่ด้วยก่อนเสียชีวิตจะต้องเป็นคนรับผิดชอบจัดการเรื่องงานศพให้พ่อแม่ และพี่น้องคนอื่นก็จะถูกคาดหวังให้มีส่วนร่วมทางการเงินและในแง่ของการสนับสนุน
สิ่งนี้แตกต่างจากคนรุ่นหลัง
ในยุคหลัง ผู้คนเริ่มเข้มงวดกับประเพณีดั้งเดิมน้อยลง และบ่อยครั้งที่พี่น้องหลายคนร่วมกันจัดงานศพ แบ่งค่าใช้จ่ายให้กันและของขวัญจากญาติก็แบ่งเท่า ๆ กัน พี่น้องแต่ละคนจะได้รับของขวัญแยกกันจากเพื่อนของตนเอง
แต่วัฒนธรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ตอนนี้ใช้งานศพเป็นโอกาสในการรวบรวมของขวัญและเงิน จากการเลี้ยงดื่มสุรา
หากมีลูกชายเพียงคนเดียวที่จะจัดงานศพเมื่อพ่อแม่จากไป ลูกชายคนอื่น ๆ จะพลาดโอกาสในการรับของขวัญและสิ่งของชำร่วย จากการเลี้ยงสุราตามธรรมเนียม
เจียงเสี่ยวไป๋ไม่ได้คิดมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาบอกว่าเขาจ่ายเงินเพียงเพราะเขาไม่คิดว่าจำเป็นต้องใช้เงินของพ่อแม่ เพราะพ่อไม่ได้มีธุรกิจเป็นหลักเป็นแหล่งเหมือนเขา
แต่ไม่คิดว่าพ่อของเขาจะดื้อขนาดนี้
“ได้ ตกลง งั้นพ่อออกเงินเองแล้วกัน ! ”
เจียงเสี่ยวไป๋ยอมแพ้ทันที เพราะไม่ต้องการโต้เถียงกับพ่อของเขาในเรื่องนี้
“แม้ว่าจะไม่ให้แกช่วยออกเงิน แต่ของขวัญบางอย่างที่ต้องเอาไปให้คนที่มาช่วยงาน ฉันก็จะฝากแกไปซื้อให้เหมือนกัน” เจียงไห่หยางพูดทั้งที่มุ่ยปาก
“ตกลงครับ ! ”
เจียงเสี่ยวไป๋พยักหน้าตกลง ใครใช้ให้เขามีรถกันล่ะ ?
“แล้วก็มีประทัดด้วยนะ แกซื้อมาด้วย” เจียงไห่หยางกล่าวเสริม
“ได้ครับ ! ” เจียงเสี่ยวไป๋ยังคงรับคำและถามว่า “มีอะไรให้ผมซื้อบ้าง ? พ่อบอกมาให้หมดเลยนะครับ”
เจียงไห่หยางครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดว่า “เมล็ดแตงโมและถั่วลิสง ฉันกับแม่ของแกซื้อมาจากอ่าวและทอดเองแล้ว แกซื้อขนมอื่น ๆ มาเสริมก็ได้”
หวังซิ่วจวี๋กล่าวเสริมว่า “ยังมีบุหรี่ เหล้า และผ้าเช็ดตัวด้วย เราต้องให้คนที่มาช่วยงานคนละหนึ่งซองในทุกวัน และยังต้องให้ผ้าเช็ดตัวคนละหนึ่งผืนหลังจบงาน”
เจียงไห่หยางตีหน้าผากตัวเอง “ดูสมองของฉันสิ ฉันเกือบลืมไปแล้ว”
หลังจากที่เขาพูดจบ เขาก็กล่าวเสริมว่า “แกไม่จำเป็นต้องซื้อบุหรี่หรือเหล้าราคาแพงก็ได้ แค่เหล้าข้าวโพดต้าเฉียนเหมินกับยี่ห้อเปียนชานก็พอแล้ว”
เจียงเสี่ยวไป๋พยักหน้าเห็นด้วย
เนื่องจากพ่อแม่ของเขาจ่ายค่าเครื่องดื่มทั้งหมด เขาจึงไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้ เขาได้แต่ฟังพ่อแม่และไปซื้อตามคำสั่ง
เจียงเสี่ยวเฟิงกล่าวว่า “พี่รองมีหน้าที่ซื้อของ แล้วพ่อกับแม่จะให้ผมช่วยอะไรหรือเปล่า ? ”
เจียงไห่หยางกล่าวว่า “ไปบอกให้ลุงจางล้มหมูให้เราพรุ่งนี้”
เมื่อมีการจัดงานเลี้ยงขึ้นในชนบท จะต้องมีการเตรียมงานก่อนหนึ่งวัน จะมีคนมาช่วยกันทั้งล้มหมู จัดสถานที่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องมีการเตรียมการกันล่วงหน้า
เจียงเสี่ยวเฟิงเห็นด้วยและพูดว่า “พ่อ หากต้องการยืมอุปกรณ์อะไร พ่อควรแจ้งล่วงหน้าด้วย ยืมจากบ้านหลังไหนมาก็จดบันทึกไว้ จะได้ไม่ลืม”
มันทำให้เจียงเสี่ยวไป๋อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องการยืมของ
ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 บ้านแต่ละหลังมีโต๊ะ เก้าอี้ ชาม จาน ตะเกียบและเครื่องใช้อื่น ๆ จำนวนไม่มากนัก หากบ้านไหนมีการจัดงานเลี้ยงฉลอง เครื่องใช้ของตนเองไม่เพียงพอก็มักจะไปยืมบ้านหลังอื่นในระแวกนั้นมา
ดังนั้น แถวชนบทในสมัยนี้มักจะมีการใช้หมึกเขียนชื่อไว้ที่ใต้จาน ชาม เก้าอี้และโต๊ะ อย่างของตระกูลเจียงจะเขียนว่า ‘เจียง’ ตระกูลหลี่จะเขียนว่า ‘หลี่’ และของตระกูลหวังก็จะเขียนว่า ‘หวัง’ เป็นต้น
หากมีผู้คนที่ใช้แช่เดียวกันเกินหนึ่งครัวเรือนในหมู่บ้าน ก็จะมีการเขียนเครื่องหมายอื่น ๆ เป็นสัญลักษณ์อีกด้วย
สรุปง่าย ๆ เลยก็คือของที่ยืมมาจะมีเครื่องหมายต่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้คืนผิด
เจียงเสี่ยวไป๋ได้ยินแบบนั้นจึงกล่าวว่า “อย่าไปยืมอะไรของใครเลย”
เขาได้ซื้อชุดโต๊ะแปดเซียนจากเฉินเจียโกวมาหลายสิบชุด แต่ละชุดจะมีม้านั่ง เก้าอี้ จาน ชาม และตะเกียบ ซึ่งเขาคิดว่าอยากจะซื้อมาเพิ่มอีกสักหลาย ๆ ชุด
ซึ่งราคาของมันก็ไม่ได้แพงอะไร