สูตรโกงฉบับเด็กเรียน - ตอนที่ 111 สอบปฏิบัติ
ตอนที่ 111 สอบปฏิบัติ
การทำซีพีอาร์เป็นทักษะภาคปฎิบัติที่สำคัญมาก!
เพราะว่าการซีพีอาร์ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ หากทำซีพีอาร์สำเร็จภายในห้านาที ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิต!
ทั้งแพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะนี้ให้ชำนาญ การซีพีอาร์ถือเป็นทักษะที่ฝึกได้ง่ายและนำไปใช้ได้จริง
ไป๋เยี่ยรู้สึกเป็นเกียรติมากที่จับได้โจทย์ข้อนี้!
ไม่ใช่ว่าไป๋เยี่ยทำอย่างอื่นไม่เป็น เพียงแต่ว่ามันยากกว่าและอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ ได้โจทย์ข้อนี้ก็ถือว่าดีแล้ว ตราบใดถ้าเขาเน้นจุดสำคัญ แค่นี้ก็ได้คะแนนดีแล้ว!
ไป๋เยี่ยมองหุ่นจำลองบนพื้นก่อนจะเดินไปทางฝั่งขวาของหุ่น เขาตรวจสอบว่าสภาพแวดล้อมโดยรอบว่าปลอดภัยหรือไม่ เสร็จแล้วก็นั่งยองๆ เพื่อจดจ่อสมาธิกับสิ่งที่จะต้องทำตรงหน้า
ขั้นตอนแรก แตะไหล่แล้วตะโกนเรียกโดยห้ามเขย่าตัวผู้ป่วย จากนั้นก็วางมือลงบนตำแหน่งเส้นเลือดแดงใหญ่เพื่อตรวจดูว่าชีพจรของคนไข้ยังเต้นอยู่หรือไม่ และสังเกตว่าผู้ป่วยหายใจอยู่หรือไม่…สังเกตอาการของผู้ป่วยเป็นเวลาแปดวินาที ระหว่างการสอบต้องมีการนับเวลาดังต่อไปนี้ 1001, 1002, 1003…ไปเรื่อยๆ
เมื่อทราบว่าผู้ป่วยหมดสติแล้ว ก็ให้คนอื่นโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน 120
ขั้นตอนแรกของการทำซีพีอาร์คือต้องทำความสะอาดสารคัดหลั่งในช่องปาก จากนั้นจึงนำผู้ป่วยไปไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม แล้วถอดเสื้อผ้าออกเพื่อเตรียมซีพีอาร์
ตำแหน่งของการทำซีพีอาร์จะอยู่บริเวณกึ่งกลางของเส้นที่เชื่อมจุดตัดบนกระดูกสันอก
ความถี่ในการปั๊มหัวใจจะอยู่ประมาณหนึ่งร้อยครั้งต่อนาที และความถี่ในการช่วยหายใจคือ 30:2 และความลึกจะคงอยู่ที่ประมาณห้าเซนติเมตร
ให้ช่วยหายใจสองครั้งหลังจากปั๊มหัวใจครบสามสิบครั้ง
ระหว่างการช่วยหายใจ อย่าลืมยกคางผู้ป่วยขึ้น และให้ติ่งหูและโพรงจมูกขนานกับพื้น จุดประสงค์คือเพื่อเปิดทางเดินหายใจ และควรบีบจมูกของผู้ป่วยเพื่อให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้
อันที่จริงการทดสอบนี้ค่อนข้างง่าย หลังจากที่ไป๋เยี่ยทำวนไปห้าครั้งเขาก็ลุกขึ้น ผู้คุมสอบก็ดูจะพอใจกับการทดสอบของไป๋เยี่ยมาก…
ต่อไปต้องไปที่วอร์ดผู้ป่วย ซึ่งแผนกโรคประสาทและสมองอยู่ที่ชั้นสิบห้า
ทันทีที่มาถึงชั้นสิบห้า แพทย์ที่ประจำอยู่ที่นั่นก็พาไป๋เยี่ยไปที่เตียงหมายเลขสามสิบหก
เธอเป็นผู้หญิงอายุราวๆ สามสิบปี ผมสั้น รูปร่างเพรียว ดูภูมิฐาน
ไป๋เยี่ยยื่นแบบฟอร์มให้เธอ “โอเค คุณมีเวลาหนึ่งชั่วโมง เริ่มได้เลย”
ไป๋เยี่ยพยักหน้าก่อนจะหยิบกระดาษออกมาเริ่มซักประวัติ
การซักประวัติผู้ป่วยมีความสำคัญมากในการวินิฉัยและรักษาโรค จำเป็นต้องซักประวัติการเข้ารับรักษาของผู้ป่วยด้วย ในหลายๆ เคสคุณจะทราบอาการและข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยได้จากการซักประวัติ
ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุราวๆ หกสิบปี เธอกำลังนอนรออยู่บนเตียง
ไป๋เยี่ยถาม “คุณป้ารู้สึกไม่สบายตรงไหนบ้างครับ ทำไมถึงมาโรง’ บาลครับ”
มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วย และผู้ป่วยเองก็ต้องให้ความร่วมมือกับไป๋เยี่ยเช่นกัน
“ฉัน…มาโรงพยาบาลเพราะจู่ๆ นิ้วซ้ายก็รู้สึกชาแปลกๆ เมื่อสามวันก่อนฉันรู้สึก…”
“คุณป้าเคยทำเอ็มอาร์ไอหรือซีทีสแกนก่อนเข้ารับการรักษาไหมครับ” ไป๋เยี่ยถาม
“ฉันเคยทำซีทีสแกนแล้ว ฟิล์มก็อยู่ที่นี่”
เธอพูดพร้อมกับยื่นฟิล์มให้ไป๋เยี่ย ทันทีที่ไป๋เยี่ยรับฟิล์มมาเขาก็ถึงกับนิ่งไป เขาดูฟิล์มแผ่นนี้ไม่รู้เรื่องเลย…
ไป๋เยี่ยกระแอมแก้เขินพร้อมกับหมุนแผ่นฟิล์มขึ้นในแนวตั้ง ดูเหมือนว่า…จะต้องมองจากแนวตั้ง จะได้ดูเหมือนดูฟิล์มเป็น
ไป๋เยี่ยเอาแต่ขมวดคิ้ว พยักหน้า และพึมพำกับตนเอง…
ก่อนจะหันมาถามคุณป้า “คุณป้า…เคยเป็นโรคเรื้อรังมาก่อนหรือเปล่าครับ อย่างเช่นความดันสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ”
คุณป้าพยักหน้า “ใช่ ฉันเป็นความดันเลยกินยาซือฮุ่ยต๋าวันละหนึ่งเม็ด…”
คนเรายิ่งอายุมากโรคภัยก็ยิ่งรุมเร้า ไป๋เยี่ยจดจำรายละเอียดทุกอย่างและซักถามออกไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวินิฉัยโรคเกี่ยวกับระบบประสาทคือการตรวจสภาวะทางจิตซึ่งต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ
อย่างเช่นการตรวจสอบสภาพจิตใจ จิตสำนึก การตัดสินใจ เป็นต้น ตลอดจนปฏิกิริยาตอบสนองต่างๆ เช่น การตอบสนองของเส้นเอ็นและข้อเข่าเป็นต้น ตลอดจนการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ดวงตา และการตอบสนองทางระบบประสาท เช่น การตอบสนองบาบินสกีส์[1] การตอบสนองแบบเคอร์นิก[2] และฮอฟฟ์แมน[3]เป็นต้น…
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากมากๆ ถ้าไป๋เยี่ยไม่ได้ไปขลุกอยู่ในสถาบันโรคประสาทและสมองมาช่วงหนึ่งเขาก็คงจะไม่รู้เรื่องเหมือนกัน
ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ถึงกระนั้นมันก็สร้างความลำบากให้ไป๋เยี่ยมาก เพราะเขาวินิฉัยออกมาได้ไม่ชัดเจนนัก
หลังจากใช้เวลาไปกว่าสี่สิบนาที ไป๋เยี่ยก็เข้าใจอาการของผู้ป่วยสักที
แพทย์หญิงพยักหน้าเพราะไป๋เยี่ยซักประวัติได้ละเอียดมาก อีกทั้งยังตรวจร่างกายให้ผู้ป่วยด้วย ส่วนรายละเอียดเหล่านั้น…
คงไม่ต้องพูดอะไรมาก อย่างไรเสียเขาก็ยังเป็นแค่นักศึกษา ตั้งมาตรฐานสูงกว่านี้ไปก็เท่านั้น
แพทย์หญิงยิ้มพร้อมหันมาทางไป๋เยี่ย “ใช้ได้ ได้ไปฝึกงานในวอร์ดมาสินะ ทุกวันนี้เด็กๆ ที่มาสอบเข้าป.โทแทบไม่มีใครเคยขึ้นวอร์ดเลย เอาแต่เรียนไปวันๆ แต่คุณเนี่ย ยอดเยี่ยมมากเลย! สู้ๆนะ”
ไป๋เยี่ยคลี่ยิ้มบางๆ และกล่าวขอบคุณ ก่อนจะรีบเดินไปจุดรับเวชระเบียน
ตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็ซักประวัติผู้ป่วยกันเสร็จเกือบทุกคนแล้ว ต่างคนก็ต่างเริ่มเขียนเวชระเบียน
ทางที่ดีควรจะเขียนเวชระเบียนโดยอิงตามระเบียบของโรงพยาบาลนั้นๆ ผู้ตรวจจะให้คะแนนสูงกว่า
เพราะว่าประการแรก การใช้รูปแบบดังกล่าวอาจจะอนุมานได้ว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ส่วนประการที่สองคือผู้ตรวจมักจะคุ้นชินกับรูปแบบการเขียนเวชระเบียนอยู่แล้ว
ไป๋เยี่ยจำรูปแบบเวชระเบียนทั้งหมดได้ดี หลังจากที่เขาเลือกพัฒนาศักยภาพทางความคิด เขาก็รู้สึกว่าสมองของเขาทำงานได้ดีกว่าเดิมเป็นเท่าตัว!
ไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่น ทักษะการอ่านและความจำของเขาดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก
ไป๋เยี่ยใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงไปกับการเขียนเวชระเบียน มีรายละเอียดมากมายที่เขาต้องเขียนลงไป
เมื่อเขียนเสร็จและส่งเรียบร้อยแล้ว ไป๋เยี่ยก็ลุกขึ้นและเดินออกไปทันที
พรุ่งนี้เขาจะต้องสอบสัมภาษณ์แล้ว และผลสอบก็จะออกวันมะรืนนี้
จะสอบติดไม่ติดก็ขึ้นอยู่กับพรุ่งนี้ล้วนๆ!
เมื่อเขากลับมาถึงโรงแรมในช่วงบ่าย ไป๋เยี่ยก็ลองซ้อมแนะนำตัวตามที่เตรียมบทไว้ ทว่าจู่ๆ เขาก็ได้ยินเสียงเฟซไทม์วีแชทดังขึ้น
ไป๋เยี่ยคว้าโทรศัพท์ขึ้นมาและพบว่าคนที่โทรมาก็คือเดซี่นั่นเอง
ทันทีที่รับสาย ใบหน้าเปื้อนยิ้มของเดซี่ก็ปรากฏขึ้น “ฮาย! ไป๋เยี่ยที่รัก คิดถึงฉันบ้างไหมจ๊ะ”
ไป๋เยี่ยยิ้ม “มีอะไรเหรอครับเดซี่”
เดซี่ตะโกน “ฉันล่ะไม่เข้าใจจริงๆ พวกหัวกะทิเป็นแบบนี้หมดเลยเหรอ คือว่าฉันมีข่าวดีมาบอกน่ะ บทความของเราได้รับการอนุมัติแล้ว ได้รับแบบแสดงความยินยอมแล้วด้วย”
ไป๋เยี่ยได้ยินเช่นนั้นก็ตื่นตัว “จริงเหรอ ส่งมาให้ผมดูเลยนะ!”
เดซี่ส่ายหน้า “เห็นนายเป็นแบบนี้แล้ว ฉันไม่อยากส่งให้เลย…”
ไป๋เยี่ยแทบจะคุกเข่าลงกับพื้น “พี่สาวเดซี่ พี่คือพี่นางฟ้าของผม พี่เป็นผู้ประเสริฐเลิศเลอที่สุดในโลกหล้า…”
เดซี่หัวเราะลั่นจนแทบลงไปกองกับพื้น “โอเค ไม่แกล้งแล้วก็ได้ พรุ่งนี้นายมีสอบสัมภาษณ์สินะ สู้ๆ! เดี๋ยวฉันส่งแบบตอบรับแสดงความยินยอมให้ รับไว้ด้วยล่ะ”
ไม่นานนัก แบบตอบรับจำนวนสิบฉบับก็ถูกส่งเข้ามาในอีเมล์ของไป๋เยี่ย!
ทันทีที่เห็นชื่อวารสาร ไป๋เยี่ยก็อดตื่นเต้นไม่ได้!
‘วิศวกรรมเซลล์’, ‘การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวัสดุใหม่’…
ไป๋เยี่ยเคยได้ยินมาว่าวารสารเหล่านี้เป็นวารสารชั้นนำที่มีคะแนนไอเอฟมากกว่าสิบคะแนนเกือบทุกฉบับ
คิดได้ดังนั้น ไป๋เยี่ยก็รีบตรงไปที่ร้านถ่ายเอกสารทันที!
[1] การตอบสนองแบบบาบินสกีส์ ปฏิกริยาตอบสนองของร่างกายเมื่อเกิดการกระตุ้นที่ฝ่าเท้า
[2] การตอบสนองแบบเคอร์นิก การทดสอบทางกายภาพในผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ
[3] การตอบสนองแบบฮอฟฟ์แมน การทดสอบปฏิกริยาตอบสนองของร่างกายที่คิดค้นโดย Dr. Johann Hoffmann เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคระบบประสาท