สูตรโกงฉบับเด็กเรียน - ตอนที่ 69 วันทั่วๆ ไปของการเรียนหนังสือ
ตอนที่ 69 วันทั่วๆ ไปของการเรียนหนังสือ
พ่างจื่อรอฟังข่าวจากไป๋เยี่ยจึงไม่ยอมวางสาย
ไป๋เยี่ยเป็นฝ่ายถามขึ้นก่อน “พ่างจื่อ นายได้กี่คะแนนเหรอ”
พ่างจื่อถอนหายใจ “สองร้อยห้าสิบ! ให้ตายเถอะ ทำไมสอบได้แค่นี้ล่ะเนี่ย โดนแม่ฟาดมาด้วย ก็ได้คะแนนแค่เนี้ยะ”
ไป๋เยี่ยแทบจะหลุดหัวเราะ พ่างจื่อนี่น้า ไปไหนก็สร้างตำนานตลอด แม้แต่คะแนนสอบก็ยังไม่เว้น!
“เยี่ยจื่อ รีบบอกมาเร็วว่าได้เท่าไหร่ ฉันรู้นะว่านายเก่ง เพราะงั้นก็รีบบอกมาซะดีๆ มาโม้ให้ฟังหน่อย”
ไป๋เยี่ยเงียบ เจ้าหมอนี่ไม่รู้จักคิดเลยจริงๆ แถมยังเพี้ยนเอาเรื่อง ทันทีที่ไป๋เยี่ยกำลังจะปริปากบอกคะแนนของเขาไป จู่ๆ ก็มีเสียงผู้หญิงดังแว่วมาจากในสาย “หวังโหย่วฝู! ไป๋เยี่ยได้กี่คะแนน”
ไป๋เยี่ยเตรียมจะเอ่ยปาก ทว่าพ่างจื่อกลับแทรกขึ้นมา “โหล โหล โหล เยี่ยจื่อ สัญญาณหายเหรอ! เอ้า…ไหงวางสายล่ะ…”
ไป๋เยี่ย “…”
หลังจากที่วางสาย ไป๋เยี่ยก็กลับไปอ่านหนังสือต่อ ขณะที่ทั้งครอบครัวออกไปเล่นสนุกกันข้างนอก
ไป๋เยี่ยรู้สึกเครียดนิดหน่อย วันที่ห้าจะต้องไปรายงานตัวแล้ว เพราะฉะนั้นเขาต้องไปถึงเมืองหลวงในวันที่สี่
ตอนนี้วิชากายวิภาคศาสตร์ของเขาอยู่ที่เลเวลสาม: 1020/10000
วิชาสรีรวิทยาเลเวลหนึ่ง: 2901/3000
วิชาพยาธิวิทยาเลเวลหนึ่ง: 1900/3000
วิชาเภสัชวิทยาเลเวลหนึ่ง: 2300/3000
วิชาชีวเคมีเลเวลหนึ่ง: 2100/3000
เขาต้องตั้งใจอ่านวิชาเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะเลเวลที่น้อย แต่เพราะว่ายิ่งพื้นฐานของวิชาเหล่านี้ซับซ้อนมากเท่าไร ขีดจำกัดของแต่ละเลเวลก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
โชคดีที่ตอนเรียนไป๋เยี่ยพอมีความรู้ด้านการแพทย์แผนปัจจุบันอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าพื้นฐานจะยาก แต่ถ้ามีรากฐานที่แน่นพอก็จะทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นนิดหน่อย
กายวิภาคศาสตร์ของคนเรานั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่าละเอียดก็ละเอียด ถ้าหากแต่ละวิชามีขีดจำกัดล่ะก็ วิชากายวิภาคศาสตร์ก็คงมีขีดจำกัดที่สูงมาก
กายวิภาคศาสตร์มีหลากหลายแขนง แต่ที่ไป๋เยี่ยกำลังอ่านอยู่เป็นกายวิภาคของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ กายวิภาคของระบบต่างๆ และกายวิภาคของเนื้อเยื่อ
โครงสร้างร่างกายของมนุษย์ซับซ้อนมาก ดังนั้นเนื้อหาในวิชากายวิภาคศาสตร์จึงแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างเซลล์ไปจนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุดอย่างอวัยวะ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะแต่ละส่วน
กายวิภาคของระบบร่างกายคือการศึกษาอวัยวะต่างๆ ด้วยตาเปล่าผ่านการผ่าตัด
ส่วนกายวิภาคของเซลล์คือการศึกษาเซลล์และโครงสร้างของเซลล์โดยใช้อุปกรณ์พิเศษอย่างกล้องจุลทรรศน์
หากจะกล่าวว่ากายวิภาคศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาร่างกายมนุษย์จากโครงสร้างต่างๆ เช่นนั้นสรีรวิทยาก็คือวิชาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของโครงสร้างและเนื้อเยื่อ
ซึ่งนี่ก็คือพื้นฐานของสรีรวิทยาร่างกายมนุษย์ และเป็นหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของระบบร่างกาย ไป๋เยี่ยรู้ดีว่าขอบเขตวิชาเหล่านั้นกว้างขวางมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิชาเหล่านั้นจะมีการวิจัยในระดับที่สูงตามไปด้วย
ร่างกายมนุษย์ลึกลับมาก เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของโรคที่พบได้ในปัจจุบันไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาลง หรือประคองอาการต่อไป ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุของโรคไม่ได้ และยังรักษาให้หายขาดไม่ได้
การพัฒนาทางการแพทย์ต้องอาศัยทั้งวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และการศึกษาประวัติศาสตร์
ไป๋เยี่ยไม่ได้รีบร้อน เขาจึงยังไม่ใช้แคปซูลเร่งค่าประสบการณ์สิบเท่า
เวลาค่อยๆ ผ่านไป วันนี้เป็นวันที่สี่ วิชาสรีรวิทยาและวิชาพยาธิวิทยาของไป๋เยี่ยขึ้นเลเวลสามได้พอดี ส่วนวิชาชีวเคมีและวิชาเภสัชวิทยายังอยู่ที่เลเวลสอง ซึ่งก็ใกล้จะอัปเลเวลเต็มทีแล้วเหมือนกัน
หลายวันมานี้ คนในกลุ่มแชทต่างก็เอาแต่พูดเรื่องผลสอบเรียนต่อปริญญาโท ต่างคนก็ต่างป่าวประกาศคะแนนของตนเอง
[ได้ข่าวว่าหลิวจื้อสอบได้สามร้อยแปดสิบคะแนนแน่ะ! โคตรเก่งเลยอะ!]
[สามร้อยแปดสิบเลยเหรอ โห มากกว่าฉันตั้งร้อยคะแนน!]
[เห็นว่าห้องซีมีคนสอบได้สี่ร้อยคะแนนนะ ว่ากันว่าเขาสร้างตำนานให้กับมหา’ลัยเราเลยละ]
[พระเจ้า สี่ร้อยคะแนน นี่เขาคิดจะไปสมัครที่ไหนเหรอ]
[มหา’ลัยแพทย์ปักกิ่งมั้ง แต่ได้ยินมาว่าเขาไปสมัครกับผอ.สักคนนี่แหละ]
คะแนนของรูมเมทของไป๋เยี่ยอย่างลู่เผยอี้และต้วนเย่ว์ก็ไม่ได้แย่ ถ้าเกณฑ์คะแนนไม่ได้สูงกว่าปกติจนเกินไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ลู่เผยอี้ได้สามร้อยสี่สิบคะแนน ส่วนต้วนเย่ว์ได้สามร้อยสามสิบเอ็ดคะแนน ซึ่งพวกเขาทั้งคู่เลือกสมัครปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดิม ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็คงไม่มีปัญหา
ทว่าไป๋เยี่ยผู้ลึกลับกลับไม่ได้แสดงตัว ทำให้คนอื่นๆ สงสัยใคร่รู้คะแนนของเขา
ไป๋เยี่ยเคยเข้าร่วมการแข่งขันความรู้แพทย์แผนจีนระดับประเทศและคว้าอันดับที่หนึ่งมาแล้ว เพราะฉะนั้นคะแนนของเขาต้องสูงมากแน่ๆ!
คงเป็นเพราะว่าคะแนนของเขาสูงเกินไป ทุกคนจึงเลือกที่จะไม่พูดถึง เพราะต่างคนก็ต่างไม่กล้าเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับไป๋เยี่ยสักเท่าไหร่
ทว่ากลับมีข่าวลือหลุดออกมาจากที่ไหนสักที่ว่าที่ปรึกษาของไป๋เยี่ยคือเฮ่ออัน ทำเอาทั้งมหาวิทยาลัยเริ่มหันมาซุบซิบเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ไอ้ไป๋เยี่ยนี่มันชักจะกล้าเกินไปแล้ว”
“นี่แหละที่เขาเรียกว่าพวกมั่นหน้าน่ะ! นายก็เห็นว่าฉันก็สมัครไปเหมือนกันไม่ใช่เหรอ”
“ไอ้คนไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ!”
“เฮ้อ…อีกนิดเดียวเท่านั้น!”
มหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนไห่ซื่อถือเป็นวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำในประเทศรองจากมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนปักกิ่ง อีกทั้งด้วยสถานะพิเศษต่อนานาชาติจึงทำให้วิทยาลัยแพทย์แห่งนี้มีข้อได้เปรียบที่ไม่เหมือนที่ไหน!
นั่นคือมีการแลกเปลี่ยนกับต่างชาติบ่อยครั้ง!
หากได้เป็นนักศึกษาดีเด่นที่ไห่ซื่อ อาจารย์ที่ปรึกษาก็อาจจะส่งคุณไปทำงานวิจัยที่ต่างประเทศ
การทำวิจัยที่นี่ไม่ขาดทรัพยากรด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยหยวน หรือดอลล่าร์สหรัฐ แต่ขาดยอดอัจฉริยะที่คอยคิดค้นแนวคิดใหม่ๆ และมีความสามารถด้านการวิจัย
กลัวก็แค่หากมอบเงินก้อนโตให้กับคุณ คุณจะใช้มันไม่หมด! หรือไม่ก็ไม่รู้จะใช้มันกับอะไร! พึงรู้ไว้เสมอว่าทุนสำหรับงานวิจัยนั้นจะเอาไปใช้จ่ายสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้
อีกอย่าง เฮ่ออันยังเป็นบุคลากรที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในวงการแพทย์แผนจีน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนในชั้นเรียนจะพากันออกอาการเมื่อรู้ว่าไป๋เยี่ยสมัครเป็นนักศึกษาในสังกัดเฮ่ออัน
ต้องเลือกและตัดสินใจ!
บางทีตอนนี้คุณอาจจะยังไม่รู้สึกตัว แต่ห้าปีต่อมา ลำธารเล็กๆ ก็อาจจะถูกกัดกร่อนจนกลายเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ก็ได้!
แน่นอนว่ามีคนจำนวนหนึ่งกำลังมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เพราะว่าการสอบเรียนต่อปริญญาโทไม่ได้มีแค่การสอบรอบแรก แต่การสอบรอบที่สองก็สำคัญเช่นกัน!
ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาหลายๆ ท่านก็เลือกให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ มากกว่า
ดังนั้นจึงเกิดประโยคสุดฮิตขึ้นในแวดวงการสอบเข้า ‘ถึงคะแนนจะผ่านเกณฑ์ แต่สิ่งที่ใช้วัดกันจริงๆ นั้นไม่ใช่คะแนน!’
ตัวอย่างเช่น สอบรอบแรกมีคะแนนห้าร้อยคะแนน สอบสัมภาษณ์อีกหนึ่งร้อยคะแนน ผลรวมสุดท้ายจะได้คะแนน = คะแนนสอบรอบแรก x 10% + คะแนนสอบสัมภาษณ์ x 50% พอเป็นแบบนี้ ต่อให้ได้คะแนนสอบรอบแรกต่างกันร้อยคะแนน แต่ท้ายที่สุดอาจจะได้คะแนนต่างกันแค่สิบคะแนนก็เป็นได้
แน่นอนว่าอัตราส่วนคะแนนจริงๆ คงไม่ได้แบ่งกันชัดเจนแบบนี้ แต่ต่อให้อัตราส่วนคะแนนเป็นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง นั่นคือคะแนนสอบรอบแรกห้าร้อยคะแนน และคะแนนสอบสัมภาษณ์ห้าร้อยคะแนน หากเป็นเช่นนี้ ความแตกต่างของคะแนนก็จะลดน้อยลงไปอีก
ทว่าไป๋เยี่ยกลับไม่ได้ใส่ใจเรื่องการสอบรอบที่สองแต่อย่างใด เพราะว่าเขายังมีเวลาอีกตั้งหนึ่งเดือนกว่า ตอนนี้เพิ่งจะปลายเดือนกุมภาพันธ์ การสอบรอบสองจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งเดือนหน้าไป๋เยี่ยก็คงต้องใช้ชีวิตอยู่ในหน่วยวิจัยของโนเบลที่เมืองหลวง
ไป๋เยี่ยเฝ้ารอให้ถึงเดือนหน้าเร็วๆ มากกว่าเฝ้ารอการสอบรอบที่สองเสียอีก!